นโยบายการพัฒนาของผู้บริหารท้องถิ่น
นายกิตติพงศ์ มหิพันธ์
เทศบาลตำบลแสลงพัน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี
1. นโยบายการพัฒนาด้านการเมืองและการบริหาร
1.1 พัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรธรรมาภิบาล คือ หลักนิติธรรม คุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ในการบริหารจัดการ โดยดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการปฏิบัติงาน
1.2 พัฒนาปรับปรุงการบริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นการบริการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพลดขั้นตอนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนที่มาขอรับบริการ
1.3 พัฒนาปรับปรุงงานด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ทุกมิติ รูปแบบในปัจจุบันและเพิ่มระบบเสียงตามสาย/ไร้สาย วิธีการปฏิบัติงานให้มีการติดต่อสื่อสารระหว่างเทศบาลกับประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง ส่งเสริมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรูปของการจัดเวทีประชาคมตามกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล การดำเนินงานของเทศบาลมีความโปร่งใสได้ในทุกขั้นตอน
1.4 ปรับปรุงและพัฒนาบุคลากรทุกระดับของเทศบาลให้มีความรู้ ความสามารถ มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆในการบริหารมาใช้ในการพัฒนาองค์กร ปรับปรุงและพัฒนาเครื่องมือ เครื่องใช้ สถานที่ปฏิบัติงาน ให้เพียงพอ ทันสมัย เหมาะสม ตามกำลังความสามารถด้านงบประมาณของเทศบาล
1.5 ส่งเสริมการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสังคมสุขภาวะ มีความรักสมัครสมานสามัคคี มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายปกครองท้องที่ คณะกรรมการชุมชน กลุ่มแกนนำชุมชน กลุ่มกิจกรรม ตลอดจนภาคเอกชนต่างๆ ในเขตพื้นที่และใกล้เคียง
2. นโยบายการพัฒนาด้านสังคม
2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการสงเคราะห์ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยเอดส์ให้ได้รับการดูแลในการดำรงชีวิตอย่างทั่วหน้าและเป็นธรรม โดยให้ความรู้ความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ต่างๆตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถพึ่งพาตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ได้อย่างมีความสุข
2.2 ส่งเสริมการดำเนินการของกองทุนสวัสดิการชุมชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมให้ดูแลช่วยเหลือกันเองได้อย่างยั่งยืน
2.3 ส่งเสริมการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวประจำตำบล (ศพค.) ชมรมผู้สูงอายุตำบลแสลงพัน ให้มีบทบาทในการสร้างความอบอุ่นในครอบครัว เพื่อเป็นเกราะป้องกันปัญหาต่างๆ
2.4 ส่งเสริมสนับสนุนการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน ที่อยู่อาศัยของผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ ให้มีความสะดวกสบาย ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในสังคม
3. นโยบายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
3.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ส่งเสริม บทบาทสตรีในการพัฒนาตนเอง ชุมชน และท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มพัฒนาสตรี และกองทุนพัฒนาสตรี กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
3.2 ส่งเสริมเพิ่มมาตรฐาน และพัฒนาอาชีพแก่ประชาชน ส่งเสริมอาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพ ให้สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืนตามแนวปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนองนา โมเดล”
3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรโรงปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพของตำบล บริหารจัดการผลิตปุ๋ยราคาถูกคุณภาพดี ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตเพิ่มรายได้มีกำไรมากขึ้นn
3.4 ส่งเสริมและสนับสนุนศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรตำบลแสลงพัน (ศพก.) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แนะนำให้กับเกษตรในชุมชนและกลุ่มอาชีพต่างๆ ตลอดจนประสานงานภาครัฐหรือภาค เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจให้มากขึ้น
3.5 ส่งเสริม สนับสนุนให้มีลานตากพืชผลการเกษตร ตลาดนัดขายสินค้าทางการเกษตร และพัฒนาระบบการให้บริการ ชั่ง ตวง วัด ให้มีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม สะดวก รวดเร็วในการซื้อขายสินค้าทางการเกษตร และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง
4. นโยบายการพัฒนาด้านการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
4.1 ส่งเสริมสนับสนุนโครงการ/กิจกรรม ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเพิ่มบทบาทหน้าที่และจำนวนของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน นักบริบาลชุมชนให้มากขึ้น เพื่อการปฏิบัติการเชิงรุกในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้สามารถเข้ารับบริการดูแล ส่งเสริมด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานได้ทั่วถึงสะดวก รวดเร็ว เท่าเทียมกัน
4.2 สนับสนุนส่งเสริมการรณรงค์ป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ และโรคอุบัติใหม่ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
4.3 รณรงค์การรักษาความสะอาดให้มีการเก็บขยะ จัดหารถขยะ/ถังขยะ คัดแยกขยะและการทิ้งขยะตามมาตรฐาน สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน และสถานที่ต่างๆ ในเขตเทศบาลให้เป็นเมืองน่าอยู่ สะอาด ปลอดภัย
4.4 พัฒนาสวนสาธารณะ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอยเกิดประโยชน์สูงสุด หนุนเสริมให้ชุมชนเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมทั้งการขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการต่างๆ ที่มุ่งไปสู่การลดภาวะโลกร้อน
4.5 จัดให้มีรถพยาบาล รับ- ส่ง ผู้ป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุ และรวมถึงรับส่งผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง
5. นโยบายการพัฒนาด้านการศึกษา การกีฬา การท่องเที่ยว ศาสนาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
5.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ
5.2 ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน
5.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี โดยการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย ตลอดจนจัดเตรียมความพร้อมของสนามกีฬา ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพประชาชนและผู้สูงอายุ อาคารลานกีฬา เครื่องออกกำลังกาย และอุปกรณ์กีฬาต่างๆ
5.4 อนุรักษ์และสืบสานด้านศาสนา กิจกรรมด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรม เนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป
5.5 พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้มีศักยภาพ ตลอดจนจัดบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนที่ใช้เส้นทาง
6. นโยบายการพัฒนาด้านการจัดการภัยพิบัติและการจัดระเบียบชุมชน
6.1 สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการการทำงานร่วมกับ ตำรวจ ฝ่ายปกครองท้องที่ คณะกรรมการชุมชน มูลนิธิกู้ชีพกู้ภัยต่างๆ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พัฒนาการพยาบาลฉุกเฉิน(EMS), หนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ภัย (OTOS), จิตอาสาภัยพิบัติ, งานอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครรักษาดินแดนสำรอง(อส.), ตำรวจชุมชน(ชรบ.) จัดให้มีการอบรมเพิ่มศักยภาพและเพิ่มจำนวนเจ้า หน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน รวมถึงการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้พอเพียง เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ได้ทันท่วงที
6.2 สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด บูรณาการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างความอุ่นใจ มั่นใจและปลอดภัยให้กับประชาชน
6.3 ส่งเสริมการสร้างวินัยจราจร การจัดระเบียบจราจรในชุมชน ตั้งด่านร่วม ออกตรวจพื้นที่เสี่ยง ล่อแหลม ติดตั้งกล้องวงจรปิด ตลอดจนมาตรการในการสร้างความสงบเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
7. นโยบายการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน
7.1 ก่อสร้าง และปรับปรุงซ่อมแซม ถนน สะพาน รางระบายน้ำ ในเขตเทศบาลให้ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนเพียงพอกับความต้องการของประชาชน
7.2 ติดตั้งและปรับปรุงระบบไฟฟ้าสาธารณะ ไฟฟ้าโซล่าเซลล์ ให้มีความสว่างครอบคลุมทั่วเขตเทศบาล เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
7.3 ก่อสร้าง และปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา ติดตั้งถังกรองน้ำบาดาล และขยายเขตประปา จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค บริโภคทั่วถึงทุกหลังคาเรือน เพียงพอต่อการขยายตัวของชุมชน ตลอดจนมีการเป่าล้างบ่อบาดาลเป็นประจำเพื่อให้มีน้ำสะอาด มีคุณภาพที่ดีให้กับประชาชน
7.4 พัฒนาปรับปรุงระบบจราจร ให้ได้มาตรฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจร ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนให้มีป้ายเครื่องหมายสัญญาณไฟจราจร ป้ายบอกสถานที่เส้นทางต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวและการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลต่าง ๆ
7.5 ดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ คู คลองสาธารณะที่ตื้นเขิน ส่งเสริมการจัดทำฝายกั้นน้ำ ฝายชะลอน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อให้ประชาชน เกษตรกร สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี
7.6 ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาปรับปรุงเชื่อมระบบน้ำวาล์วเล็กลงลำรางสาธารณะกับชลประทานโครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก สร้างแพสูบน้ำพร้อมระบบท่อเมนเพื่อสูบน้ำเข้าบ่อบัว อ่างเก็บน้ำสาธารณะต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การประมง เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปาใช้ในฤดูแล้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้